“จาณักยคัมภีร์” รวบรวมโดย นาวาอากาศโทมนู โชติรัต “คัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์เก่าที่ไปพบมาและเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแก่การรักษาไว้ สำหรับนักวิชาการที่สนใจในตำราการพยากรณ์

“จาณักยคัมภีร์” รวบรวมโดย นาวาอากาศโทมนู โชติรัต
“คัมภีร์นี้เป็นคัมภีร์เก่าที่ไปพบมาและเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแก่การรักษาไว้ สำหรับนักวิชาการที่สนใจในตำราการพยากรณ์ ข้าพเจ้าได้คัดลอกและจัดพิมพ์เพื่อมิให้สูญหาย โดยข้อความทั้งหมดในตำรานี้มีดังนี้…
๑. ข้าพเจ้าจักกล่าวซึ่งคัมภีร์ ชื่อ “จาณักยะ” อันเป็นมูลรากของคัมภีร์ทั้งปวง เป็นที่ประชุมแห่งราชนิติ ซึ่งเก็บรวบรวมมาแต่คัมภีร์ต่างๆ ล้วนประมวลไว้ ซึ่งอรรถสาร
๒. อนึ่ง ข้าพเจ้าจักกล่าวซึ่งสูตรอันเป็นมูลรากตามแบบอย่างซึ่ง “จาณักยพราหมณ์” ได้กล่าวไว้โดยเป็นตำราสามารถทำคนโง่ซึ่งพอเล่าเรียนรู้คัมภีร์นี้ ให้เป็นนักปราชญ์ได้
๓. เป็นนักปราชญ์กับเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ย่อมมีน้ำหนักไม่เท่ากันมาแต่ไหนๆแล้ว พระเจ้าแผ่นดิน คนย่อมบูชาแต่ในประเทศของพระองค์ นักปราชญ์มีคนบูชาทั่วไป
๔. คุณทั้งปวง ย่อมมีอยู่แต่ในคนที่เป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่เขลามีแต่โทษอย่างเดียว เพราะฉะนั้น นักปราชญ์คนเดียวจึงวิเศษกว่าคนโง่ตั้งพัน
๕. ชนผู้เป็นบัณฑิต ย่อมเห็นลูกเมียคนอื่นเหมือนมารดา เห็นทรัพย์ของคนอื่นเหมือนก้อนดิน เห็นสัตว์เหมือนตนของตน
๖. คนที่ไร้คุณสมบัติ ถึงชาติตระกูลสูงใหญ่ก็จะมีประโยชน์อะไร คนที่หาชาติตระกูลมิได้ แต่รู้ตำราศาสตราคม ถึงพวกเทวดาก็ต้องบูชา
๗. ผู้ที่บริบูรณ์ด้วยรูปแลวัยเกิดในตระกูลอันไพศาล แต่ไร้วิทยาคมก็ไม่งดงาม เหมือนดอกทองกราวอันหากลิ่นมิได้
๘. พระจันทร์เป็นที่เชิดชูของดาวทั้งหลาย สามีเป็นที่เชิดชูของนารีทั้งหลาย พระเจ้าแผ่นดินเป็นที่เชิดชูของแผ่นดิน วิชาเป็นที่เชิดชูของคนทั้งปวง
๙. บุตรโง่ไม่ฉลาด มารดาก็เป็นศัตรู บิดาก็เป็นไพรี เหมือนกาในกลางฝูงหงส์
๑๐. บุตรประกอบด้วยคุณ คนเดียวก็ประเสริฐ บุตรโง่ตั้งร้อยคนไม่ประเสริฐเลย พระจันทร์ดวงเดียวกำจัดมืดได้ ดาวหมู่มากๆ ก็กำจัดมืดไม่ได้
๑๑. พึงประคับประคองบุตรภายในอายุ ๕ ขวบ พึงเฆี่ยนตีบุตรในระหว่างต่อไปอีก ๑๐ ปี พอบุตรอายุ ๑๖ ปีแล้ว ก็พึงถือว่าบุตรนั้นเป็นมิตรของตน
๑๒. การประคับประคองมีโทษมาก การเฆี่ยนตีมีคุณมาก เพราะฉะนั้นบุตรก็ดี ศิษย์ก็ดี ต้องเฆี่ยนตี อย่าประคับประคองเลย
๑๓. ต้นไม้ดีมีดอกหอมแม้ต้นเดียว เมื่อดอกบานแล้ว ย่อมส่งกลิ่นตลบไปทั่วป่า เหมือนกับตระกูลที่มี

บุตรดี
๑๔. ต้นไม้ชั่วมีโพรงเป็นเชื้อไฟ เมื่อเพลิงิดขึ้นในโพรงแล้ว อาจลุกลามไหม้ป่าทั้งหมดได้ เหมือนตระกูลที่มีบุตรชั่ว
๑๕. คนโง่แต่งตัวปกคลุมด้วยผ้าผ่อน แลดูไกลๆก็งาม ถ้ายังไม่เอ่ยปากพูดเมื่อไร ก็ยังงามอยู่เมื่อนั้น
๑๖. น้ำทิพย์ถึงอยู่ในยาพิษ ก็ควรถือเอา สุวรรณถึงอยู่ในสิ่งโสโครก ก็ควรถือเอา วิชาที่สูงถึงอยู่ในในคนต่ำต้อย ก็ควรเรียน สตรีรัตนะถึงอยู่ในตระกูลเลวทราม ก็ควรเลี้ยงดู
๑๗. เวลามีสมบัติก็ดี เวลาวิบัติก็ดี เวลาข้าวยากหมากแพงก็ดี เวลาสู้รบศัตรูก็ดี เวลาอยู่ในราชสำนัก (พระเจ้าแผ่นดินทรงชุบเลี้ยง) ก็ดี เวลาอยู่ในป่าช้า (สิ้นไร้ไม้ตอก) ก็ดี ผู้ใดตั้งอยู่ในที่ร่วมสุขทุกข์ตลอดไป ผู้นั้นชื่อว่าเป็นเผ่าพันธุ์
๑๘. มิตรที่คอยทำลายล้างประโยชน์ลับหลัง ต่อหน้าปากหวานควรเว้นเสียให้ห่างไกล เหมือนหม้อยาพิษที่มีน้ำนมอยู่ปากหม้อ
๑๙. มิตรที่คิดร้ายแตกกันไปครั้งหนึ่งแล้ว ผู้ใดเอาเข้ามาสมาคมติดต่ออีก ผู้นั้นชื่อว่าถือเอาความตายไว้ เหมือนม้าอัสดรอันทำลายครรภ์มารดา
๒๐. อย่าวิสาสะไว้วางใจกับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกัน ถึงมิตรก็อย่าวิสาสะนัก ถ้ามิตรโกรธขึ้นมาเมื่อใด อาจระบุโทษทั้งหมดของเราได้
๒๑. จะดูข้าให้ดูเวลาทำการงาน จะดูวงศ์วานให้ดูเมื่อเวลาตกทุกข์ จะดูมิตรให้ดูเมื่อเกิดภัยอันตราย จะดูเมียให้ดูเมื่อเวลาไร้สมบัติ (คุณผู้หญิงอ่านข้อนี้แล้วอย่าขึงโกรธนะครับ ..ผู้ชายเขียนก็ออกมาในรูปนี้ ถ้าผู้หญิงเขียนก็คงตรงข้ามกัน..ณภัทร)
๒๒. พึงกำจัดศัตรูด้วยศัตรูเองเพราะให้สินบนแก่มัน เหมือนหนามยอกเอาหนามบ่ง
๒๓. (อยู่เฉยๆ) ใครก็ไม่เป็นมิตรของใคร ใครก็ไม่เป็นศัตรูของใคร ต่อเมื่อมีเหตุขึ้นแล้วจึงจะรู้ว่าใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู
๒๔. แท้จริงทรชนย่อมกล่าวคำน่าฟัง แต่ไม่ควรพิศวาสคำของมัน เพราะหวานมีแต่ที่ปลายลิ้น พิษฝังอยู่ที่หัวใจ
๒๕. ทรชนถึงจะมีวิชาอาคมมาก ก็ควรหลีกให้ห่างไกล เหมือนงูร้าย แม้ประดับด้วยแก้วมณี มันจะไม่ทำให้เกิดภัยแก่เราหรือ
๒๖. งูร้ายก็น่ากลัว คนชั่วก็น่ากลัว แต่คนชั่วน่ากลัวกว่างู งูยังตกอยู่ในอำนาจของมนต์แลยา คนชั่วใครจะห้ามได้
๒๗. อย่าถือวิสาสะกับสัตว์มีเล็บ แม่น้ำ สัตว์มีเขา คนถืออาวุธ สตรี และราชตระกูล (ข้อนี้..อ่านแล้วไม่เข้าใจความหมายครับ กระทบกระเทือนใครขออภัยนะครับ…ณภัทร)
๒๘. หลีกช้างหลีกให้ห่างพันศอก หลีกม้าหลีกให้ห่างร้อยศอก หลีกสัตว์มีเขาให้หลีกสิบศอก หลีกทรชนต้องอพยพจากที่อยู่
๒๙. พึงรักษาทรัพย์ไว้เพื่อแก้อันตราย พึงรักษาเมียด้วยทรัพย์ พึงรักษาตนให้ยิ่งกว่าเมียแลทรัพย์
๓๐. ลูกเมียของผู้อื่น ๑ ทรัพย์ของผู้อื่น ๑ คำนินทาเยาะเย้ยของคนอื่น ๑ ทำโลเลในสำนักครู ๑ สี่อย่างนี้พึงละเว้นให้ห่างไกล

๓๑. พึงละทรัพย์สมบัติของตนเพื่อรักษาตระกูล พึงละตระกูลเพื่อรักษาหมู่บ้าน พึงละหมู่บ้านเพื่อรักษาชนบท พึงละแผ่นดินเพื่อรักษาตน

๓๒. ผู้มีปัญญาลาดด้วยเท้าข้างหนึ่ง ย่อมตั้งหลักไว้ได้ด้วยเท้าอีกข้างหนึ่ง เมื่อยังไม่เห็นที่อื่นแน่นอน ก็อย่าเพิ่งทิ้งถิ่นเดิม

๓๓. พึงรักษาใจคนโลภด้วยการให้ปัน พึงรักษาใจคนโกรธด้วยใจอ่อนน้อม พึงรักษาใจคนเขลาด้วยการคล้อยตาม พึงรักษาใจนักปราชญ์ด้วยคำสัตย์

๓๔. คนมีปัญญาย่อมไม่สำแดงความวิบัติแห่งทรัพย์ ความเดือดร้อนใจ ความทุจริตในเรือน ความคดโกงและความดูหมิ่น ให้ออกนอกหน้า

๓๕. พึงละความกระดากกระเดื่อง ในการพยายามหาทรัพย์สมบัติ ในการเล่าเรียนวิชาอาคม ในการแสวงหาอาหาร ในการทำมาค้าขาย

๓๖. คนมีทรัพย์ พราหมณ์ผู้รู้ไตรเพท พระราชา แม่น้ำ แพทย์ ๕ อย่างนี้ไม่มีในที่ใด อย่าบังควรไปอยู่ในที่นั้น

๓๗. ประเทศใดไม่มีคนนับถือ ไม่มีความอิ่มใจ ไม่มีเผ่าพันธุ์ ไม่มีความรู้วิชา พึงเว้นประเทศนั้นเสีย

๓๘. กิจการที่คิดไว้ในใจ ไม่ควรเอาไปตีแผ่ด้วยวาจา เพราะว่ากิจการที่ผู้อื่นรู้เสียแล้วไม่เกิดสิทธิ (ไม่ขลัง)

๓๙. ผู้มีปัญญาพึงเว้นเสีย ซึ่งประเทศที่ไม่ดี ซึ่งความประพฤติไม่ดี ซึ่งภรรยาไม่ดี ซึ่งแม่น้ำไม่ดี ซึ่งทรัพย์ไม่ดี และโภชนะไม่ดี

๔๐. เศษแห่งหนี้สิน เศษแห่งไฟ เศษแห่งพยาธิ อย่าทำให้มันเหลืออยู่ เพราะมันจักเจริญได้อีก

๔๑. ความคิดเป็นเครื่องเผาใจของมนุษย์ทั้งหลาย แดดเป็นเครื่องเผาผ้าเปียกทั้งหลาย ความขี้เหร่เป็นเครื่องเผาใจของสตรีทั้งหลาย เมถุนเป็นเครื่องเผาใจของม้าทั้งหลาย

๔๒. ผู้ใดมีลูกเมียแลคนใช้อยู่ในอำนาจ แลถือสันโดษในสิ่งที่ยังไม่มี ผู้นั้นถึงยังอยู่ในพื้นดินก็เหมือนอยู่ในสวรรค์

๔๓. มีเมียชั่ว มีเพื่อนโอ้อวด มีข้าอุตรินอกคำสั่ง อยู่ในเรือนที่มีงู ไม่ต้องสงสัยว่าความตายจะไม่มาถึงตัว

๔๔. เรือนใดไม่มีมารดา มีแต่ภรรยาปากร้ายสามานย์ ควรจะไปอยู่เสียในป่า เพราะเรือนชนิดนั้นเหมือนป่าอยู่แล้ว

๔๕. บิดาทำหนี้สินชื่อว่าเป็นศัตรู มารดามักมากในกามชื่อว่าเป็นศัตรู ภรรยารูปสวยก็ชื่อว่าเป็นศัตรู บุตโง่เขลาก็ชื่อว่าเป็นศัตรู

๔๖. เสียงเป็นเพียงความงามของนกดุเหว่า ปฏิบัติสามีเป็นความงามของสตรี วิชาเป็นความงามของคนรูปไม่สวย ความอดทนเป็นความงามของผู้บำเพ็ญตบะ

๔๗. ชีวิตอันหาวิชาไม่ได้ เป็นชีวิตสูญเปล่า ประเทศทิศอันหาเผ่าพันธุ์มิได้ ก็เป็นทิศอันว่างเปล่า เรือนไร้บุตร ก็เป็นเรือนอันสูญเปล่า ความยากจน เป็นความสูญเปล่ากว่าสิ่งทั้งปวง (ที่กล่าวมาแล้ว)

๔๘. เป็นคนตระหนี่เพราะโทษเนื่องมาแต่วงศ์สกุล เป็นคนยากจนเพราะโทษเนื่องมาแต่กรรม เป็นบ้าเพราะโทษเนื่องมาแต่มารดา เป็นคนเซอะเพราะโทษเนื่องมาจากบิดา

๔๙. ไฟเป็นครูของชนทวิชาติทั้งหลาย พราหมณ์เป็นครูของชนสี่เหล่า ผัวคนเดียวเป็นครูของสตรีทั้งหลาย แขกผู้จรมาเป็นครูทั่วไป

๕๐. ลังกาต้องพินาศเพราะความเย่อหยิ่งเกิน พวกโกรธต้องพินาศเพราะมีมานะยิ่งเกิน ท้าวพลีต้องกักขังเพราะให้ทานเกินไป สิ่งที่เกินทั้งนั้น นักปราชญ์ติเตียน

๕๑. เครื่องประดับไม่มีผ้า โภชนาไม่มีกับ สตรีไม่มีนม ชีวิตไม่มีวิชา เหล่านี้ไม่งามเลย

๕๒. ความมีอาหารบริบูรณ์ แลตนมีความสามารถบริโภคอาหารได้ก็ดี ความมีอุดมสตรี แลตนมีความสามารถจะยินดีด้วยสตรีได้ก็ดี ความมีสมบัติ แลตนมีความสามารถจะบริจาคสมบัติได้ก็ดี เหล่านี้ไม่เท่าผลของตบะเพียงเล็กน้อย

๕๓. เมียเป็นประโยชน์ในการที่เกิดบุตร บุตรเป็นประโยชน์ในการทำพลีให้ มิตรเป็นประโยชน์ในการเกื้อกูล ทรัพย์เป็นประโยชน์ทั่วไป

๕๔. ถ้อยคำที่แน่นอนหายาก บุตรผู้ทำให้เกิดสุขเกษมก็หายาก ภรรยาที่เสมอใจก็หายาก คนของเราที่จะรักเราจริงๆก็หายาก

๕๕. แก้วมณีไม่มีทุกภูเขา คดช้างไม่มีทุกๆตัวช้าง สัตบุรุษไม่มีทุกแห่ง จันทน์แดงไม่มีทุกป่า

๕๖. นักปราชญ์ไม่มีทรัพย์ก็ไม่เศร้าโศก มีเผ่าพันธุ์เป็นนักปราชญ์ก็ไม่เศร้าโศก นารีเป็นหม้าย แต่มีลูกหลานตั้งตัวได้ก็ไม่เศร้าโศก

๕๗. บุรุษไร้วิชาย่อมเศร้าโศก เมถุนไร้คนก็แห้งแล้ง ประชาชนไม่มีอาหารินก็เศร้าโศก ราชสมบัติปราศจากพระราชาก็ร่วงโรย

๕๘. พร้อมด้วยคนผู้มีเหล่ากอ ๑ เป็นมิตรกับนักปราชญ์ ๑ พร้อมเพรียงด้วยหมู่ญาติ ๑ ผู้ที่มีพร้อมทั้ง ๓ อย่างนี้ ย่อมไม่พินาศ

๕๙. ประพฤติหาเลี้ยงชีพเนื่องด้วยผู้อื่นก็ลำบาก อยู่ไม่มีที่พึ่งอาศัยก็ลำบาก คนไร้ทรัพย์ พยายามทำงานก็ลำบาก ความจนลำบากยิ่งกว่าสิ่งทั้งปวงหมด

๖๐. จะหาความซื่อตรงจากดัสกรที่ไหนได้ จะหาความอดทนจากทรชนที่ไหนได้ จะหาความเสน่หาจากหญิงแพศยาที่ไหนได้ จะหาความสัตย์จากคนที่หลงใหลในกามคุณที่ไหนได้

๖๑. คนผู้ทำการรับใช้เขาจะมีมานะอย่างไรได้ คนมักโกรธจะหาความสุขที่ไหนได้ สตรีจะมีสติมั่นคงมาแต่ไหน คนโง่เขลาจะหาไมตรีกับใครได้

๖๒. พระราชาเป็นกำลังของทรพล ร้องไห้เป็นกำลังของเด็ก ความนิ่งเป็นกำลังของคนโง่ ความตลบตะแลงเป็นกำลังของโจร

๖๓. ผู้ใดละเสียซึ่งสิ่งของที่ยั่งยืน ไปเสพของที่ไม่ยั่งยืน ของที่ยั่งยืนก็ฉิบหาย ของที่ไม่ยั่งยืนก็ฉิบหายไปด้วย

๖๔. เนื้อแห้ง หญิงแก่ พระอาทิตย์อ่อน ทธิใหม่ เสพเมถุนแลนอนเวลาสว่างแล้ว ๖ อย่างนี้ทำให้อายุสั้น (“ทธิใหม่”ไม่ทราบท่านหมายถึงอะไร ใครพอทราบช่วยกรุณาบอกด้วยขอบคุณครับ …ณภัทร หรือว่าพิมพ์ผิด?)

๖๕. เนื้อสด ข้าวใหม่ สตรีสาว อาหารเจือนมสด นมข้น น้ำร้อน ๖ อย่างนี้ทำให้อายุยืน

๖๖. พึงศึกษาจริตของราชสีห์อย่าง ๑, ของนกยางอย่าง ๑, ของสุนัข ๖ อย่าง, ของลา ๓ อย่าง, ของกา ๔ อย่าง, ของไก่ ๕ อย่าง

๖๗. ชนผู้ใดปรารถนาจะทำการใหญ่น้อย พึงทำการนั้นโดยความพยายามอันเข้มแข็ง เหมือนราชสีห์อันจับสัตว์ นี่เรียกว่าจริต ๑ อย่างของราชสีห์

๖๘. ชนผู้ตกอยู่ในหน้าที่ที่ต้องทำ สำรวมอินทรีย์เหมือนนกยาง (อันจ้องจิกปลา) ย่อมสามารถทำกิจอันสมควรแก่กาละให้สำเร็จได้ (เรียกว่าศึกษาเยี่ยงนกยางอย่างหนึ่ง)

๖๙. คุณแห่งสุนัข ๖ อย่างคือ กินมาก ๑, ยินดีในของน้อย ๑, นอนหลับสนิท ๑, รู้สึกเร็ว ๑, กล้า ๑, (นี่เยี่ยงสุนัข ๖ อย่าง)

๗๐. ลาย่อมลากเข็นภาระโดยไม่ครั่นคร้าม ๑, ย่อมไม่คิดถึงหนาวแลร้อน ๑, มีความสันโดษเสมอ ๑, พึงศึกษาเยี่ยงลา ๓ อย่าง ดังนี้

๗๑. เสพเมถุนในที่ลับ ๑, เก็บซ่อนของกินไว้เสมอๆ ๑, ระวังตัวไม่เผลอ ๑, ไม่เกียจคร้าน ๑, พึงศึกษาเยี่ยงกา ๔ อย่างนี้

๗๒. ไก่ย่อมชอบตีกันอย่าง ๑, ตื่นแต่เช้าอย่าง ๑, หากินพร้อมด้วยพวกพ้องอย่าง ๑, รักษาตัวเมียที่ถูกอันตรายอย่าง ๑, พึงศึกษาเยี่ยงไก่ ๔ อย่าง ดังนี้

๗๓. ถ้ามีความสามารถ ทำไมกับภาระที่หนัก ถ้ามีความตั้งใจจริง ทำไมกับผลที่อยู่ห่างไกล ถ้ามีวิชา ทำไมกับพลัดภูมิประเทศ ถ้ามีวาจารักใคร่ ทำไมกับคนอื่น

๗๔. ความไม่สำรวมอินทรีย์ นักปราชญ์กล่าวว่าเป็นหนทางแห่งความวิบัติ การชนะอินทรีย์ นักปราชญ์กล่าวว่าเป็นหนทางแห่งสมบัติ เพราะอยากไปไหนไปได้

๗๕. พวกพ้องเสมอด้วยวิชาไม่มี ข้าศึกเสมอด้วยพยาธิไม่มี ความรักเสมอด้วยความอ่อนน้อมไม่มี กำลังเสมอด้วยกรรมบันดาลไม่มี

๗๖. แผ่นดินมีมหาสมุทรเป็นเครื่องหุ้มห่อ เรือนมีรั้วเป็นเครื่องแวดล้อม ประเทศมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นเครื่องป้องกัน สตรีทั้งหลายมีความประพฤติเป็นเครื่องรักษา

๗๗. นารีเสมอด้วยหม้อน้ำมันยาง บุรุษเสมอด้วยถ่านไฟอันร้อน เพราะเหตุนั้นผู้มีปัญญาจึงไม่เอาน้ำมันแลไฟตั้งไว้ในที่เดียวกัน

๗๘. นักปราชญ์กล่าวไว้ว่า สตรีทั้งหลาย กินอาหาร ๒ เท่าผู้ชาย มีปัญญา ๔ เท่าผู้ชาย มีความพยายาม ๖ เท่าผู้ชาย มีกามคุณ ๘ เท่าผู้ชาย

๗๙. พึงสรรเสริญอาหารเมื่อเพลิงธาตุย่อยแล้ว พึงสรรเสริญภรรยาเมื่อมีวัยล่วงแล้ว พึงสรรเสริญนักรบเมื่อกลับจากรบแล้ว พึงสรรเสริญข้าวกล้าเมื่อมาถึงเรือนแล้ว

๘๐. พราหมณ์ทั้งหลาย ถ้าไม่ถือสันโดษก็พินาศ พระเจ้าแผ่นดิน ถ้าทรงถือสันโดษก็พินาศ หญิงแพศยา ถ้ามีความละอายก็พินาศ สตรีที่มีเหล่ากอ ถ้าไม่มีความละอายก็พินาศ

๘๑. คนเกิดในวงศ์อันต่ำช้าได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ๑, บุตรคนโง่ได้เป็นนักปราชญ์ ๑, คนจนมั่งมีขึ้น ๑, ทั้ง ๓ จำพวกนี้ โลกย่อมดูหมิ่นเหมือนหนึ่งต้นหญ้า

๘๒. คนผู้มีทรัพย์สมบัติอันไพบูลย์ แม้จะฆ่าพระพรหม ก็ยังมีคนบูชา ชนผู้ไร้ทรัพย์ แม้จะเกิดในตระกูลอันเลิศลอยฟ้า คนก็ดูแคลน

๘๓. มีวิชาอยู่ในสมุด มีทรัพย์อยู่ในเงื้อมมือผู้อื่น เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น ชื่อว่าไม่มีวิชา ชื่อว่าไม่มีทรัพย์

๘๔. ภัยของต้นไม้ทั้งหลายอันเกิดอยู่ริมตลิ่ง ย่อมเกิดแต่ลม ภัยแห่งปทุมทั้งหลาย ย่อมเกิดแต่ฤดูหนาว ภัยแห่งภูเขาทั้งหลาย ย่อมเกิดแต่วัชระ (เพ็ชร) ภัยแห่งสาธุชนทั้งหลาย ย่อมเกิดแต่ทรชน

๘๕. เมื่อมีนักปราชญ์เป็นผู้ช่วยประกอบราชกิจพระราชา ย่อมได้คุณ ๓ อย่างคือ ยศอย่าง ๑, อยู่ในสวรรค์อย่าง ๑, ได้บรรลุทรัพย์อันไพบูลย์อย่าง ๑

๘๖. เมื่อมีแต่คนโง่อยู่ประกอบราชกิจ โทษ ๓ อย่างย่อมมีแก่พระเจ้าแผ่นดิน คือ เสื่อมเสียเกียรติยศอย่าง ๑, ทรัพย์สมบัติพินาศอย่าง ๑, ไปสู่นรกอย่าง ๑

๘๗. หมู่คนโง่ทั้งหลาย มากประพฤติกิริยาต่อกันดังสัตว์เดียรฉาน ย่อมปกปิดคุณความดีเสียหมดเหมือนกับเมฆปิดดวงอาทิตย์

๘๘. ผู้ใดมีที่อยู่ริมแม่น้ำ มีเมียเป็นที่รักของคนอื่น มีลูกไม่มีวินัย ไม่ต้องสงสัยว่ามฤตยูจะมาไม่ถึง

๘๙. ถึงเห็นประจักษ์แก่ตา แต่สิ่งที่เห็นนั้นไม่ใช่วิสัยที่จะทำได้ ก็ไม่ควรพูด จะเหมือนหาน้ำที่หินแลให้วานรร้องเพลง

๙๐. ข้าวงามเป็นความสุขเสมอของชาวนา ความไม่มีโรคก็เป็นความสุขเสมอแห่งตน ภรรยาของผู้ใดเป็นที่รักแห่งสามี เรือนของผู้นั้นชื่อว่า มีมหรสพอยู่เสมอ

๙๑. ความเกียจคร้านย่อมยังกิจการให้พินาศ ไร้ทรัพย์ทำให้อับปัญญา การขอทานทำให้หมดมานะ กินไม่มีประมาณทำให้ตระกูลพินาศ

๙๒. ต้นไม้ใหญ่ที่บริบูรณ์ด้วยผลแลเงา ควรที่จะเสพอาศัย ถ้าไม่มีเหตุผลที่เหลือวิสัยมาทำอันตรายแล้ว ใครจะห้ามเงาต้นไม้นั้นได้

๙๓. วัยแรกถ้าไม่หาวิชาไว้ วัยที่ ๒ ไม่หาทรัพย์ วัยที่ ๓ ไม่ทำบุญ วัยที่ ๔ จักทำอะไรได้

๙๔. ต้นไม้ที่อยู่ใกล้ฝั่งน้ำ ทรัพย์อยู่ในเงื้อมมือของคนอื่น กิจการตกอยู่ในวิสัยของสตรี สิ่งทั้ง ๓ อย่างที่กล่าวนี้ไร้ผล

๙๕. อยู่ในภูมิประเทศที่ไม่ดีจะสั่งสมทรัพย์ที่ไหนได้ มีลูกชั่วจะหาความเคารพอันรุ่งเรืองที่ไหนได้ มีแม่เรือนชั่วจะหาความสุขในเรือนที่ไหนได้ มีศิษย์เกียจคร้านจะหาเกียรติยศที่ไหนได้

๙๖. น้ำในบ่อ ๑, ร่มไม้ไทร ๑, สตรีสวย ๑, เรือนที่ก่อสร้างด้วยอิฐ ๑, ถึงคราวหนาวก็ทำให้อบอุ่น ถึงคราวร้อนก็ทำให้เย็นสบาย

๙๗. เที่ยวกลางคืนก็เป็นพิษ ปฏิบัติราชกิจก็เป็นพิษ สตรีที่ผูกใจอยู่ในชายอื่นก็เป็นพิษ เจ็บไข้ไม่เหลียวแลกระตือรือร้นก็เป็นพิษ

๙๘. เล่าเรียนวิชา ถ้าไม่สำเหนียกให้แม่นยำ ก็เป็นพิษแก่ผู้เรียน อาหารการกิน ถ้าไฟธาตุไม่ย่อย ก็เป็นพิษแก่ผู้กิน โรงศาลเป็นพิษของคนขัดสน หญิงสาวเป็นพิษของชายชรา

๙๙. เดินทางเวลาพลบค่ำ มีแต่ความเสื่อมเสีย สตรีที่พลาดไปในทางชั่วแล้ว ก็มีแต่เสื่อมเสีย ไร่นาที่มีข้าวปลูกน้อย ก็มีแต่เสื่อมเสีย นายที่มีคนใช้ชั่ว ก็มีแต่เสื่อมเสีย

๑๐๐. ศราทธพรต ถ้าผู้ทำไม่ได้เรียนไตรเพทก็เสื่อม บูชายัญ ถ้าไม่มีทักษิณาก็เสื่อม สตรีรูกสวย ถ้าเป็นหมันก็เสื่อม กองทัพถ้าไม่มีนายกก็เสื่อม

๑๐๑. ผู้รู้เวทย์แลองค์ของเวทย์โดยถ่องแท้ ๑, ตั้งหน้าในการบริกรรมแลเซ่นสรวง ๑, ประกอบด้วยวาทะในการอำนวยพร ๑, ผู้นี้แล ควรเป็นราชปุโรหิต

๑๐๒. บริบูรณ์ด้วยคุณคือตระกูลแลศีล ๑, ตั้งหน้าในการรักษาธรรมทั้งปวง ๑, มีปัญญารู้จักเลือกใช้คน ๑, ผู้นี้ควรเป็นธรรมการ

๑๐๓. ขวนขวายในการทำให้เจริญอยู่ ๑, เป็นที่ต้องตาของคนทั้งปวง ๑, ประกอบด้วยอริยศีล ๑, ผู้นี้แล ควรแต่งตั้งให้เป็นแพทย์

๑๐๔. สามารถจดจำเนื้อความที่คนอื่นพูดครั้งเดียว ๑, มีฝีมือรวดเร็ว ๑, ชำนาญในอักษร ๑, เอาใจดูหูใส่ในตำหรับตำราทั้งปวง ๑, ผู้นี้แล ควรเป็นเลขานุการอย่างยิ่ง

๑๐๕. รู้ตำรานิติศาสตร์ทั้งหมด ๑, ฝึกฝนชำนาญในพาหนะจนคนยกย่องว่าดี ๑, ประกอบด้วยคุณคือความแกล้วกล้าแความเพียร ๑, ผู้นี้แลควรเป็นเสนาธิการ

๑๐๖. มีปัญญา ๑, ฉลาดพูด ๑, เป็นนักปราชญ์ ๑, ทรงจำแม่นยำ ๑, กล่าวถ้อยคำเป็นหลักฐาน ๑, ผู้นี้ควรเป็นทูต

๑๐๗. บริบูรณ์ด้วยคุณคือบุตรแลนัดดา ๑, รู้ตำรากับข้าว ๑, ทำกับข้าวอร่อย ๑, แกล้วกล้า ๑, แข็งแรง ๑, ผู้นี้ ควรเป็นวิเศษเครื่องต้น

๑๐๘. รู้จักสังเกตอาการเคลื่อนไหวโดยถ่องแท้ ๑, มีกำลัง ๑, ใครเห็นรักใคร่ ๑, ไม่เผลอ ๑, ขยันขันแข็ง ๑, ผู้นี้ ควรเป็นนายประตู

กราบขอบพระคุณท่านจาณักยพราหมณ์ และท่านผู้รวบรวม นาวาอากาศโทมนู โชติรัต ไว้ ณ ที่นี้ครับ
 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *